23 กิจกรรมที่นิยมทำกันในเทศกาลวันคริสต์มาสของชนชาติที่พูดภาษาอังกฤษ
ความสำคัญของวันคริสต์มาส
คริสต์มาส ถือเป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญของเกือบทุกประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ และในอเมริกาก็เช่นเดียวกัน นอกจากวันขอบคุณพระเจ้าแล้ว เทศกาลที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันแม้จะมีความแตกต่างกันบ้างก็คือวันคริสต์มาส
แม้มีชื่อว่าวันขอบคุณพระเจ้า แต่เทศกาลวันขอบคุณพระเจ้าคือวันที่ผู้คนเฉลิมฉลองกันด้วยการรับประทานอาหารอร่อย ๆ ร่วมกับครอบครัว และถือเป็นเทศกาลของทางโลก (secular) ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับศาสนา เทศกาลที่เกี่ยวกับความเชื่อและประเพณีทางศาสนาสำหรับหลาย ๆ คนคือ วันคริสต์มาส
คริสต์มาส คือการเฉลิมฉลองวันประสูตรของพระเยซูซึ่งตรงกับวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมแห่งการเฉลิมฉลองในวันคริสต์มาสก็ยังมีประเพณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา (secular) ด้วยเช่นกัน เช่น ซานตาคลอส การส่งการ์ดอวยพร และการให้ของขวัญ เป็นต้น
ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับศาสนาหรือไม่ แต่เทศกาลวันคริสต์มาสก็แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ หรือแม้แต่ในแต่ละครอบครัวเลยก็ว่าได้ เพราะประเพณีนี้คือสิ่งที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสุ่รุ่น ซึ่งหมายถึงเด็ก ๆ จะเรียนรู้และเข้าใจการเฉลิมฉลองนี้จากพ่อแม่ และเมื่อโตขึ้นพวกเขาก็จะเฉลิมฉลองคริสต์มาสในแบบเดียวกันนี้กับลูก ๆ ของพวกเขา และเป็นเช่นนี้สืบต่อกันไป
แม้ประเพณีวันคริสต์มาสจะมีความแตกต่างกันไป แต่ก็ยังพอจะจัดหมวดหมู่ได้บ้างเหมือนกัน เราจะเริ่มด้วยญาติสนิทมิตรสหาย (family and friends) ก่อนจะย้ายไปร่วมรับประทานอาหาร (food) หลังจากทานกันอิ่มแล้วเราจะแสดงความเคารพและศรัทธา (faith) ในฐานะของคริสเตียนที่ดี และสุดท้ายก็ต้องมีกิจกรรมร่วมสนุก (fun) อย่างที่ทุก ๆ คนนิยมทำกันในวันคริสต์มาส
23 สิ่งที่นิยมทำกันในเทศกาลคริสต์มาสของชนชาติที่พูดภาษาอังกฤษ
Family and Friends (ญาติสนิทมิตรสหาย)
เทศกาลคริสต์มาสถือเป็นเทศกาลแห่งการสังสรรค์ ผู้คนจะใช้เวลาไปกับการเฉลิมฉลองร่วมกับเพื่อนฝูงและครอบครัว
1. วันรวมญาติ
ส่วนมากหลาย ๆ ครอบครัวจะนัดรวมกัน (get together; การใช้เวลาร่วมกัน) เพื่อเฉลิมฉลองในวันคริสต์มาสอีฟ (24 ธันวาคม) หรือไม่ก็วันคริสต์มาส (25 ธันวาคม) การรวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการนี้เรียกว่า get-together ซึ่งเป็นคำนาม
แต่หากญาติ ๆ อยู่ไกลกันและเป็นไปไม่ได้ที่จะพร้อมหน้ากันในวันคริสต์มาส ส่วนใหญ่ผู้คนก็จะนัดทานมื้อค่ำหรือจัดปาร์ตี้คริสต์มาสกับเพื่อน ๆ หรือไปฉลองร่วมกับครอบครัวของเพื่อน ๆ แทน
แม้ทุกครอบครัวจะมีประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติที่แตกต่างกันไปตามสิ่งที่สืบทอดกันมา สถานะทางสังคม และการให้ความสำคัญ แต่พวกเขาก็จะร่วมแชร์สิ่งเหล่านั้นกับเพื่อน ๆ และครอบครัวในวันคริสต์มาส
2. การมอบของขวัญและการแลกของขวัญ
หลายคนฉลองคริสต์มาสด้วยการมอบของขวัญ (present; gift) ให้แก่เพื่อน ๆ สมาชิกในครอบครัว หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงาน ซึ่งมักจะเป็นในลักษณะที่เรียกว่า การแลกของขวัญกัน (gift exchange) อันที่จริงแล้วยังมีชื่อพิเศษอีกมากมายที่เราใช้เรียกกิจกรรมการแลกของขวัญนี้
แต่ทั้งหมดจะเริ่มด้วย เราเอาของขวัญมาห่อ (wrap) ด้วยกระดาษห่อของขวัญ (wrapping paper) แล้วก็เอามันไปใส่ไว้ในถุงของขวัญ (gift bag) เพื่อแลกกับคนอื่น ๆ และที่น่าตื้นเต้นที่สุดก็ตอนที่ทุกคนแกะห่อของขวัญ (unwrap) เพื่อดูสิ่งที่อยู่ข้างในนั่นแหละ
บางครอบครัวหรือบางบริษัทอาจมีการแลกของขวัญที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง เพราะแทนที่จะต้องซื้อของขวัญแจกทุกคนทั้งเพื่อน ๆ และเพื่อนร่วมงาน หลาย ๆ ที่จึงเลือกใช้วิธีแลกของขวัญที่เรียกว่า Secret Santa แทน สำหรับวิธีนี้แต่ละคนจะต้องสุ่มหยิบชื่อของคนอื่นที่อยู่ในกล่องขึ้นมาหนึ่งชื่อ แล้วก็ไปซื้อของขวัญให้กับคนคนนั้นโดยทั้งหมดจะต้องถูกปิดเป็นความลับ
ช้างเผือก (white elephant) เป็นอีกหนึ่งวิธีแลกของขวัญที่เรานิยมกันมาก ของขวัญที่เรานำมาแลกกันในวิธีนี้จะต้องมีราคาไม่แพง โดยเริ่มจากใครสักคนเป็นคนเลือกและเปิดของขวัญเป็นคนแรก จากนั้นคนถัดไปสามารถเลือกได้ว่าจะเอาของขวัญที่คนแรกเปิดหรือจะเปิดชิ้นใหม่ ถ้าใจตรงกันคนที่เปิดก่อนหน้าจะต้องยกของตัวเองให้ไปแล้วไปเปิดชิ้นใหม่อีกครั้ง (หรือกลับไปเลือกอันที่เปิดอยู่แล้วก่อนหน้าของตัวเองก็ได้) มันสนุกอยู่นะ แต่ค่อนข้างจะแย่งกันน่าดูเลยล่ะ หรือบางทีก็อาจถึงขั้นโกลาหล (chaotic; crazy) เลยก็ว่าได้ และนี่คือเหตุผลว่าทำไมราคาต้องไม่แพง! (inexpensive; cheap)
3. ทำบุญทำทาน
คำว่า charity (ทำบุญทำทาน, การกุศล) คือคำที่ใช้อธิบายการกระทำเมื่อคุณได้ให้ความช่วยเหลือคนที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ เช่น คนไร้บ้านหรือคนที่ไม่มีแม้แต่เงินจะซื้อข้าวกิน “ฤดูเทศกาล” (วันขอบคุณพระเจ้าและคริสต์มาส) คือหนึ่งในช่วงเวลาที่คนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (charitable) กันมากที่สุดในรอบปี
ตัวอย่างเช่น บางคนอาจไปเป็นอาสาสมัคร (volunteer; บริจาคเวลาส่วนตัวของพวกเขา) เพื่อช่วยทำอาหารในศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน หรือบางคนอาจไปบริจาคของขวัญให้กับเด็กในครอบครัวยากจน เป็นต้น
ฉะนั้นโดยทั่วไปแล้ว ฤดูเทศกาลก็คือเวลาที่จะได้ช่วยเหลือผู้คน แต่บางทีคุณอาจเคยเห็นป้ายที่เขียนว่า “keep the spirit alive all year.” และเราควรใช้ไอเดียนี้ไปในความหมายที่ว่า “พึงมีน้ำใจไปตลอดปี” ไม่ใช่แค่เฉพาะในช่วงเทศกาลเท่านั้น
4. งานปาร์ตี้ในบริษัท
บริษัทหลายแห่งมักจัดปาร์ตี้เทศกาล (holiday party) หรือปาร์ตี้สิ้นปี (end of the year party) ให้แก่พนักงานในช่วงเดือนธันวาคม และเพื่อไม่เป็นการไปเกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางศาสนา หลายบริษัทอาจเลี่ยงใช้คำ “คริสต์มาส” ในชื่องานเลี้ยงที่จัดขึ้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ทุก ๆ คนได้เข้าร่วม (inclusive; open) กิจกรรม
และส่วนมากจะอนุญาตให้พนักงานพาคู่ (spouse; husband, wife, partner, boyfriend or girlfriend) ของตนเองมาร่วมงานด้วย
5. ประเพณีประจำตระกูล
ตามที่ได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่า ในแต่ละครอบครัวหรืออาจเรียกได้ว่าในแต่ละตระกูล จะมีประเพณีคริสต์มาสที่เป็นแบบฉบับเฉพาะตัว ซึ่งแตกต่างกันไปตามรากฐานทางวัฒนธรรมและพื้นเพของตระกูลนั้น ๆ
อย่างในครอบครัวของผม พวกเราจะกินฟองดูว์กันในวันคริสต์มาสอีฟ และในวันคริสต์มาสเราจะแลกของขวัญช้างเผือกกัน ยิ่งไปกว่านั้นทุก ๆ ปีเราจะต้องหาของขวัญที่เกี่ยวข้องกับพยัญชนะที่พวกเรากำหนดไว้ในแต่ละปี (ในปีนี้คือตัว “F”) และนี่แทบจะไม่เหมือนกันเลยกับประเพณีคริสต์มาสในครอบครัวของเพื่อนผม
ถ้าคุณรู้จักใครที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ ลองถามเขาดูว่าประเพณีคริสต์มาสประจำตระกูลของเขาเป็นยังไง–คงน่าสนุกดี!
6. เมนูครอบครัว
เมื่อมีการรวมตัวของญาติ ๆ เกิดขึ้นในวันคริสต์มาส เมนูพิเศษจานใหญ่จะถูกรังสรรค์ขึ้น และหลาย ๆ ครอบครัวอาจถึงขั้นเตรียมชุดจานแฟนซี (fancy; special) และชุดเครื่องเงิน (silverware : forks-ส้อม, knives-มีด, spoons-ช้อน) ไว้โดยเฉพาะสำหรับช่วงเวลาพิเศษ ๆ แบบนี้เท่านั้น แม้เมนูในเทศกาลจะค่อนข้างเหมือนกัน แต่บางครอบครัวก็มีเมนูประจำเทศกาลที่รับประทานกันทุกปี โดยที่เมนูข้างบ้านก็ยังต่างกันออกไป
ยกตัวอย่างในครอบครัวของผม เตาอบ (oven) ของเราจะมีไพรม์-ริบ (เนื้อวัวย่างประเภทหนึ่ง) สำหรับเป็นเมนูหลัก นอกจากนั้นเรายังกินคาร์ดามัม เบรด (ขนมปังเดนิชแสนอร่อยที่ผสมผงกระวานและเครื่องเทศอื่น ๆ) และซอสปูที่ป้าของผมเป็นคนทำ ซึ่งเมนูเหล่านี้แหละคือเมนูครอบครัวสำหรับวันพิเศษ และแต่ละครอบครัวต่างก็มีเมนูเด็ดแตกต่างกันไป
7. การตกแต่งประดับประดา
ในอเมริกาเป็นเรื่องง่ายมากที่จะบอกว่าตอนไหนคือเดือนธันวาคม เพราะไม่ว่าคุณจะหันไปทางไหน คุณก็จะเจอแต่ของประดับตกแต่งในเทศกาลคริสต์มาส และจะได้ยินเพลงคริสต์มาสในทุก ๆ ที่ที่คุณไป
ของตกแต่งที่เรียกได้ว่าเป็นสากลก็คงจะหนีไม่พ้นต้นคริสต์มาส (Christmas tree) เพราะทุกบ้านที่เฉลิมฉลองคริสต์มาสจะมีต้นคริสต์มาสอย่างน้อยหนึ่งต้น และมีขายทั้งแบบที่ตัดมาจากในป่า และแบบที่ปลูกในฟาร์มให้ได้เลือกซื้อกันตามใจชอบ
แต่บางบ้านก็อาจเลือกใช้ต้นคริสต์มาสประดิษฐ์ (artificial; fake-เทียม) เพราะมันไม่ยุ่งยากและไม่ต้องไปหาซื้อต้นใหม่กันทุกปี
สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการตกแต่งต้นคริสต์มาสเรียกว่า ornaments (ของประดับตกแต่ง) ของประดับพวกนี้จะมีตะขอเล็ก ๆ เพื่อใช้แขวนตามกิ่งต้นคริสต์มาส สำหรับบางครอบครัวของประดับยังใช้สื่อถึงความหมายพิเศษอีกด้วย เช่น หากใครได้มีโอกาสไปเที่ยวที่พิเศษ ๆ มาในปีนี้ พวกเขาก็อาจจะซื้อเครื่องบินเล็ก ๆ มาห้อยไว้ เพื่อเป็นการระลึกถึงสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละปี
อีกสิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นของคู่กันกับต้นคริสต์มาส คือไฟคริสต์มาส (Christmas lights) ซึ่งนอกจากจะใช้ประดับต้นคริสต์มาสแล้ว หลายคนยังนิยมประดับไว้นอกบ้านด้วย และบางคนก็ใช้ไฟประดับเยอะมาก ๆ แถมยังมีของประดับอย่างอื่นอีกเต็มบ้านเต็มสวนไปหมด–สะใจเขาล่ะ!
หลายคนแขวนพวงมาลัย (wreath) ที่สานและตกแต่งจากกิ่งไม้สนไว้ที่ประตูหน้าบ้านด้วย
และสุดท้ายซึ่งขาดไม่ได้คือ ถุงเท้าคริสต์มาส (Christmas stockings) ถุงเท้าที่ใช้แขวนกันจะเป็นถุงเท้ายาวและมีขนาดใหญ่ และมักจะแขวนไว้ใกล้กับเตาผิง (ถ้าบ้านไหนมี) ด้วยความเชื่อว่า ซานตาคลอสจะลงมาทางปล่องไฟและเอาของเล่นใส่ไว้ในถุงเท้าเป็นของขวัญให้กับเด็ก ๆ –แต่เฉพาะเด็กดีเท่านั้นนะ!
8. การ์ดคริสต์มาส
การส่งการ์ดอวยพรคริสต์มาส (Christmas cards) ถึงเพื่อน ๆ และครอบครัว เป็นประเพณีที่ยังนิยมทำกันจนถึงทุกวันนี้ หน้าตาของการ์ดจะคล้าย ๆ กับการ์ดอวยพรวันเกิด แต่มักจะแนบรูปของครอบครัวเอาไว้ด้วย และส่วนใหญ่มักจะเขียนเรื่องราวลงไปด้วยว่าในปีนี้ครอบครัวทำอะไรกันบ้าง ตลอดช่วงเดือนธันวาคมเราจะส่งการ์ดคริสต์มาสให้ครอบครัวและเพื่อน ๆ กัน
Food (อาหาร)
เราพอจะรู้กันแล้วว่าอาหารมีสำคัญสำหรับการเฉลิมฉลองในเทศกาลคริสต์มาสอย่างไร ฉะนั้นในตอนนี้เราจะไปดูคำศัพท์เพิ่มเติมเกี่ยวกับอาหาร ที่คุณอาจจะได้ยินคนพูดกันในช่วงเทศกาลคริสต์มาส
9. งานกินเลี้ยง
feast (งานกินเลี้ยง) คือมื้ออาหารขนาดใหญ่สำหรับโอกาสพิเศษต่าง ๆ งานกินเลี้ยงมักจะประกอบด้วยอาหารหลายคอร์ส (courses) รวมกัน ซึ่งนั่นหมายความว่ากว่าจะเสิร์ฟและกินเสร็จในแต่ละลำดับ นั่นอาจจะใช้เวลาเป็นชั่วโมงเลยล่ะ!
อาหารจานหลัก (main course) ส่วนมากจะเป็นอาหารประเภทเนื้อต่าง ๆ เช่น แฮม เป็ด หรือไม่ก็ไก่งวง ก็อย่างที่ได้บอกไปก่อนหน้านี้แล้วว่า แม้ครอบครัวของผมจะฉลองกันด้วยอาหารจานหลักที่เป็นเนื้อวัว แต่ครอบครัวอื่น ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
10. เค้กผลไม้
Fruitcake (เค้กผลไม้) คือขนมปังหรือขนมเค้กที่ส่วนใหญ่จะใส่ถั่วและผลไม้เชื่อมอื่น ๆ ลงไป และอย่าลืมตามมุขให้ทันล่ะ! เพราะหลาย ๆ คนมักชอบเล่นมุข fruitcakeกันในช่วงคริสต์มาส
ก็เพราะว่ามันมีเนื้อแน่น (dense; thick) และก็ไม่ใช่อะไรที่ทำให้รู้สึกว่า กินของหวานเบา ๆ ฉะนั้นหลาย ๆ คนเลยไม่ชอบกินเค้กผลไม้ และหันไปกินเมนูคริสต์มาสอื่น ๆ ที่หวานกว่าและอร่อยกว่าแทน ดังนั้นมุขตลกเกี่ยวกับเค้กผลไม้ก็เลยประมาณว่า ถ้ามีปีไหนที่ใครให้เค้กผลไม้กับคุณเป็นของขวัญ ปีถัดไปคุณก็เอาเค้กก้อนเดิมนั่นแหละเป็นของขวัญให้เขาไป!–I feel like nobody really likes me., Fruitcake said.
ถ้าลองนึก ๆ ดูผมว่า…ผมยังไม่เคยลองชิมเค้กผลไม้เลยนะ!
11. เครื่องดื่มสำหรับวันคริสต์มาส
มีเครื่องดื่มเพียงไม่กี่ชนิดที่ใช้ดื่มกันในเทศกาลคริสต์มาส เพราะเดือนธันวาคมอากาศจะหนาวมาก ฉะนั้นโดยปกติจะมีแค่เครื่องดื่มร้อน ๆ ที่เป็นที่นิยมกันในช่วงวันคริสต์มาส
เครื่องดื่มอย่างหนึ่งที่ถือว่าขาดไม่ได้เลยสำหรับวันคริสต์มาส คือช็อคโกแลตร้อน (hot chocolate) หรือในบางครั้งก็เรียกว่า “โกโก้” (cocoa ออกเสียงว่า “co-co”) หรือ “โกโก้ร้อน” (hot cocoa) ซึ่งก็คือนมร้อนที่ชงผสมกับผงโกโก้หรือผงช็อคโกแลตนั่นเอง
เครื่องดื่มร้อนอีกอย่างหนึ่งก็คือ mulled wine (ไวน์ร้อน) ซึ่งก็คือไวน์แดงที่มีส่วนผสมของผลไม้และเครื่องเทศ อย่างเช่น อบเชย
Eggnog เป็นเครื่องดื่มเย็นเพียงไม่กี่ชนิดที่ใช้เสริฟกันในช่วงคริสต์มาส ทำมาจากนมหรือครีมและไข่ และมักจะใส่เครื่องเทศลงไปด้วย แต่หลาย ๆ คนก็ชอบที่จะเติมอมาเร็ตโต้หรือรัมลงไปด้วย
12. ลูกกวาดคริสต์มาส
นอกจากจะเพลิดเพลินกับเครื่องดื่มหวาน ๆ แล้ว หลายคนยังชื่นชอบขนมหวานอื่น ๆ ในเทศกาลคริสต์มาสด้วย แต่ช็อคโกแลตก็ยังคว้าอันดับหนึ่งไปครองอีกนั่นแหละ และดูเหมือนบริษัทผลิตช็อคโกแลตจะแข่งกันผลิตช็อคโกแลตสำหรับเทศกาลนี้โดยเฉพาะด้วย
Candy canes (ไม้เท้าลูกกวาด) เป็นขนมที่ถือว่าขาดไม่ได้เลยสำหรับเทศกาลคริสต์มาส และห้างร้านต่าง ๆ ก็มักจะมอบลูกกวาดรูปไม้เท้านี้เป็นของขวัญเล็ก ๆ ให้กับลูกค้าของพวกเขา
ขนมที่เป็นที่ชื่นชอบของอีกหลาย ๆ คนในเทศกาลคริสต์มาส คือ มาร์ชแมลโลว์ (marshmallows) เรามักจุ่มมาร์ชแมลโลว์ลงไปในช็อคโกแลตร้อนให้มันละลาย แล้วเราก็จะได้ช็อคโกแลตร้อนรสชาติหวานอร่อยอย่าบอกใคร–เอ่อ–บอกไปแล้ว!
และขนมหวานอย่างสุดท้าย คือ คุกกี้คริสต์มาส (Christmas cookies) หลากหลายสูตร ซึ่งสูตรพวกนี้จะตกทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นในแต่ละครอบครัว จนบางคนถึงกับจัดงานเพื่อแลกคุกกี้และสูตรทำคุกกี้กันเลยทีเดียว
Faith (ความศรัทธา)
เนื่องจากเทศกาลวันคริสต์มาสมีรากฐานมาจากชาวคริสเตียน ทำให้หลาย ๆ ธรรมเนียมปฏิบัติยุคใหม่ยังคงมีเกี่ยวข้องกับศาสนา ประเพณี และความเชื่อดั้งเดิมอยู่ ดังนั้นในส่วนนี้เราจะมาคุยกันถึงประเพณีนิยมที่ยังถือปฏิบัติกันอยู่ในครอบครัวที่เคร่งศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวชาวคริสเตียน
13. โบสถ์
ในเทศกาลคริสต์มาสครอบครัวที่เคร่งศาสนาส่วนใหญ่จะไปโบสถ์เพื่อประกอบพิธีกรรมร่วมกัน สำหรับนิกายคาธอลิคจะเรียกพิธีกรรมนี้ว่า พิธีมิสซา (mass) และส่วนมากจะประกอบพิธีมิสซากันตอนเที่ยงคืน (midnight masses) ของคืนคริสต์มาสอีฟ หรืออาจจะเป็นวันอื่นที่ใกล้กับวันคริสต์มาส
โบสถ์นิกายโปเตสแตนต์ก็จัดพิธีกรรมพิเศษนี้เช่นกัน แต่ไม่ได้เรียกว่าพิธีมิสซา เพียงแค่เรียกว่าพิธีกรรมในโบสถ์ (church services) แม้ชื่อพิธีกรรมจะไม่เหมือนกัน แต่หลัก ๆ แล้วเราจะร่วมกันร้องเพลงสวด (hymns) ซึ่งเป็นเพลงสำหรับวันคริสต์มาส และมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องราวการประสูติของพระเยซู
14. การประสูติ
The Nativity หมายถึงการประสูติซึ่งเราใช้เรียกการประสูติของพระเยซู โดยส่วนใหญ่แล้วทั้งพิธีกรรมในโบสถ์และพิธีมิสซาจะมีการประกวดแสดงละครเรื่องการประสูติของพระเยซู (Nativity pageants) โดยมีเด็ก ๆ เป็นนักแสดง
15. ฉากการประสูติ
โบสถ์หลาย ๆ แห่งหรือแม้แต่บ้านหลาย ๆ บ้านจะมีการจัดแสดงภาพที่เป็นเรื่องราวการประสูติของพระเยซู (Nativity scene) ในช่วงเทศกาลนี้ ภาพเหล่านี้คือการบอกเล่าเรื่องราวของพระเยซูเมื่อครั้งยังเป็นทารก พระแม่มาเรีย นักบุญโจเซฟ และบุคคลสำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ประสูติ
เรื่องราวเมื่อครั้งพระเยซูได้ประสูติในรางหญ้า (manger) ของคอกเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มแห่งหนึ่ง คือเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ฉากการประสูติมีสัตว์ต่าง ๆ เช่น แกะและวัวรวมอยู่ด้วย
และในบางโบสถ์อาจนำคนและสัตว์จริง ๆ มาแสดงในฉากการประสูตินี้ซึ่งเรียกว่า Living Nativity (ฉากแห่งชีวิต)
16. พวงมาลัยแห่งการจุติ
คำว่า “advent” (การลงมาจุติ) ใช้กล่าวถึงการประสูติหรือการมาถึงของพระเยซู แต่ในกรณีนี้ยังหมายถึงเทศกาล (season) สำหรับหลาย ๆ คริสตจักร พิธีกรรมเพื่อการมาจุตินี้จะจัดขึ้นในช่วงสี่สัปดาห์ก่อนวันคริสต์มาส ซึ่งจะใช้พวงมาลัยรูปวงกลมอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในเรื่องของประดับตกแต่งก่อนหน้านี้
Advent wreath (พวงมาลัยแห่งการจุติ) เป็นพวงมาลัยขนาดเล็กที่ประดับด้วยเทียนห้าเล่ม โดยสี่เล่มจะปักไปตามเส้นรอบวงและอีกหนึ่งเล่มจะปักไว้ตรงกลางวงของพวงมาลัย พวงมาลัยจะถูกวางไว้บนโต๊ะแทนการแขวนที่ประตู และทุก ๆ วันอาทิตย์ตลอดช่วงเทศกาลนี้แต่ละครอบครัว (หรือโบสถ์) จะจุดเทียนบนพวงมาลัยเพียง 1 เล่ม พร้อมกับอ่านคำสอนในพระคัมภีร์ไบเบิลหรืออ่านประวัติของวันคริสต์มาส เมื่อถึงวันอาทิตย์ถัดไปเทียนเล่มที่จุดไว้ก่อนหน้าก็จะมอดลง และเทียนเล่มถัดไปก็จะถูกจุดขึ้นอีกหนึ่งเล่ม อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ในแต่ละอาทิตย์จนถึงวันคริสต์มาส เทียนเล่มสุดท้ายที่อยู่ตรงกลางก็จะถูกจุดขึ้น
17. เพลงคริสต์มาส
เพลงที่ร้องในโบสถ์จะเรียกว่า “เพลงสวด” (hymns) และเพลงสวดสำหรับคริสต์มาสก็จะมีอยู่มากมายหลายเพลง
เพลงสวดคริสต์มาสที่มีชื่อเสียงประกอบไปด้วยเพลง “Joy to the World,” “Hark the Herald Angels Sing,” “Silent Night” และ “O Holy Night.” ซึ่งคุณต้องเคยได้ยินเพลงพวกนี้กันมาบ้างแล้วแน่ ๆ!
Fun (สนุก)
ประเพณีอื่น ๆ ของเทศกาลก็สนุกอยู่นะ แต่กิจกรรมที่จะพูดถึงต่อไปนี้มันจะยิ่งทำให้เทศกาลคริสต์มาสเป็นช่วงเวลาที่สนุกขึ้นไปอีก!
18. ซานตาคลอส
ซานตาคลอส (ยังรู้จักกันในชื่อ นักบุญนิโคลัส นักบุญนิก หรือหนึ่งในชื่อที่คุ้นหูอื่น ๆ เหล่านี้) คือชายในตำนานที่มีเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับตัวเขามากมายซึ่งต่างกันไปในแต่ละประเพณี แต่ส่วนใหญ่จะเล่าตรงกันว่า เขาเหาะมาด้วยเลื่อนที่ลากโดยกวางเรนเดียร์ เพื่อเอาของขวัญมาแจกเด็กดีทุก ๆ คนในคืนคริสต์มาสอีฟ
เพราะเขาต้องเดินทางไปทั่วโลกและแวะทุกบ้าน แถมยังต้องไต่ลงปล่องไฟเพื่อเอาของขวัญไปใส่ไว้ในถุงเท้าให้เด็ก ๆ อีก ดังนั้นหลาย ๆ บ้านจึงวางคุกกี้ไว้ให้กับซานต้าด้วย เพราะการเหาะไปทั่วโลกต้องทำให้เขาหิวแน่ ๆ แม้แต่ NORAD ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในกองทัพของอเมริกายังต้องเปิดโหมดออนไลน์ “Santa Tracker” ตลอดทั้งเดือนธันวาคมเพื่อให้เด็ก ๆ รู้ว่าตอนนี้ซานต้าเดินทางไปถึงไหนแล้ว
หลายครอบครัวที่มีเด็ก ๆ ก็จะสนุกกับซานตาคลอสในแบบต่าง ๆ ของตัวเอง
ไม่เว้นแม้แต่ห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ทุกห้างจะจัดโซนที่เรียกว่าซานต้ามอลล์ (mall Santa) ซึ่งเด็ก ๆ ที่ไปเที่ยวกับผู้ปกครองก็จะได้ถ่ายรูปร่วมกับซานต้า ถ้าคุณอยากเห็นรูปน่าหัวเราะล่ะก็ ลองดูที่นี่ รวมรูปซานต้ากับครอบครัวจอมเปิ่น
19. การแลกคุกกี้
อย่างที่บอกไปในข้อที่ 12 ว่าหลาย ๆ คนมักจะแลกคุกกี้กัน (cookie exchanges) ในเทศกาลนี้ แถมยังมีแบบเอามาขายกันอีกต่างหาก แต่ที่เห็นบ่อยที่สุดคือ แต่ละคนจะเอาสูตรมาให้คนอื่น ๆ ได้ลองทำกัน แล้วมาดูกันว่าสูตรไหนจะเป็นที่ถูกใจมากที่สุด ซึ่งจริง ๆ แล้วมันก็คือปาร์ตี้คุกกี้ดี ๆ นี่เอง–ฟังแล้วน่าสนุกใช่มั้ยล่ะ!
20. การร้องเพลงสดุดีวันคริสต์มาส
เพลงคริสต์มาสที่ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับทางศาสนามีอยู่มากมาย ซึ่งเพลงเหล่านี้มักจะถูกเรียกว่า Christmas carols (เพลงสดุดีคริสต์มาส) และการออกไปร่วมร้องเพลงคริสต์มาสด้วยกัน ทั้งเพลงที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับศาสนาซึ่งเรียกว่า going caroling
ผู้คนจะรวมกลุ่มกันและเดินไปเคาะประตูทีละบ้าน เมื่อมีคนเปิดประตูพวกเขาก็จะร้องเพลงให้หนึ่งหรือสองเพลง กิจกรรมนี้มีไว้เพื่อสร้างความบันเทิง แต่ในบางครั้งก็ทำเพื่อการกุศลด้วยเช่นกัน (หากเจ้าของบ้านร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุนกิจกรรมนั้น ๆ พวกเขาก็จะร้องเพลงให้ฟัง)
หรือบางครั้งหลายคนอาจไปร่วมพิธีแห่กองฟาง (hayride) ซึ่งแต่ละคนจะนั่งบนฟาง (hay; straw) ที่มัดไว้เป็นก้อน ๆ บนรถพ่วง แล้วลากไปด้วยรถบรรทุกหรือยานพาหนะอื่น ๆ พร้อมกับร้องเพลงคริสต์มาสไปด้วย
สำหรับเพลงคริสต์มาสที่ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับทางศาสนาได้แก่ White Christmas,” “Santa Claus Is Coming to Town” และ “Rudolph the Red-nosed Reindeer.”
21. ปาร์ตี้วันคริสต์มาส
ปาร์ตี้วันคริสต์มาสเป็นปาร์ตี้ที่จัดกันทั้งในที่ทำงาน ปาร์ตี้รวมญาติ หรือแม้แต่ปาร์ตี้ที่จัดในหมู่เพื่อนฝูง เพื่อเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสด้วยกัน ซึ่งโดยปกติแล้วก็จะมีขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม ดนตรี และส่วนใหญ่ยังมีเกมต่าง ๆ ให้ได้สนุกกัน
หนึ่งในรูปแบบของปาร์ตี้ที่กำลังเป็นที่นิยมในเทศกาลนี้คือ ugly sweater party (ปาร์ตี้สเวตเตอร์อัปลักษณ์) กฎเหล็กของเสื้อสเวตเตอร์คริสต์มาสนี้คือ ต้องตัวใหญ่ สีฉูดฉาด และต้องอัปลักษณ์ ซึ่งหลายแห่ง (โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น) จัดปาร์ตี้นี้ขึ้นเพื่อที่จะได้ใส่เสื้ออัปลักษณ์ ๆ ไปร่วมงานกันโดยเฉพาะ และหลายคนก็ยอมลงทุนซื้อเสื้อสเวตเตอร์คริสต์มาสแสนอัปลักษณ์นี้ไปร่วมงานกันเลยทีเดียว!
22. กิจกรรมกลางแจ้ง
ไม่ว่าอากาศข้างนอกจะหนาวสักแค่ไหน แต่เหมือนมีบางอย่างในเทศกาลคริสต์มาสดึงดูดผู้คนให้อยากออกไปข้างนอก อากาศสดชื่นท่ามกลางหิมะคือสิ่งที่ทุกคนอยากสัมผัส ยิ่งถ้ามีหิมะปกคลุมด้วยล่ะก็ เราจะได้นั่งรถเลื่อน (sleigh ride) กันล่ะ! (“sleigh-สเล” กับ “play-เพล” มันเป็นเสียงที่คล้องจองกัน)
แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าอยากออกแรงมากกว่าการนั่งนิ่ง ๆ บนรถเลื่อน คุณอาจจะเล่นสเก็ตน้ำแข็ง (ice skating) หรือไม่ก็ไป สโนว์ชูส์ (snowshoeing) ก็ได้ แม้ทั้งสองกิจกรรมนี้จะต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะ (รองเท้าสเก็ตน้ำแข็ง และ รองเท้าสำหรับเดินบนหิมะ) แต่ก็มีร้านให้เช่าอยู่เต็มไปหมด สิ่งสำคัญคือหากคุณต้องการสนุกกับมันให้ได้อย่างเต็มที่โดยเฉพาะกับสเก็ตน้ำแข็ง คุณอาจจะต้องฝึกฝนกันสักหน่อย แต่เอาเข้าจริง ๆ คุณจะสนุกจนไม่อยากถอดรองเท้าออกเลยล่ะ!
ถ้าคุณอยู่ใกล้กับเนินเขาหรือเทือกเขา กิจกรรมกลางแจ้งสุดมันส์สำหรับคุณก็ต้องนี่ รถเลื่อนหิมะ (sledding) สกี (skiing) และสโนว์บอร์ด (snowboarding) แต่สำหรับผมนะ–ผมขอแค่เลื่อนหิมะก็พอ เพราะมันราคาถูกกว่าไปรีสอร์ตสำหรับเล่นสกีเยอะ ที่สำคัญมันเล่นง่ายสุด ๆ และที่คุณต้องมีก็แค่เลื่อนหรืออะไรก็ได้ที่พาคุณไถลไปได้แค่นั้นเอง!
23. รายการทีวีพิเศษ
เมื่อข้างนอกเริ่มมืดและอากาศหนาวเกินไป เราก็ย้ายไปสนุกกันต่อในบ้านแทน ช็อคโกแลตร้อนอร่อย ๆ และรายการพิเศษเกี่ยวกับคริสต์มาสในทีวี ยังเป็นอะไรที่น่าสนใจเสมอ
รายการพิเศษต่าง ๆ ส่วนมากมักจะเป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นมาสำหรับเด็ก ๆ ดังนั้นจึงเป็นแนวแอนิเมชั่นเสียเป็นส่วนใหญ่ ภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่สร้างมาเฉพาะสำหรับเทศกาลนี้ เช่น A Charlie Brown Christmas,” “Frosty the Snowman” และ “Rudolph the Red-nosed Reindeer.”
นอกจากนี้ยังเป็นประเพณีไปแล้วอีกเช่นกัน ที่ซีรีส์ต่าง ๆ จะสร้างตอนเฉพาะสำหรับคริสต์มาสออกมา และมันก็มีซีรีส์ในดวงใจของผมรวมอยู่ด้วย เช่น British version of “The Office,” แล้วก็ some good “The Simpsons” Christmas specials ซึ่งตอนนี้มีออกมา 13 ตอนแล้ว! แต่ก็ต้องระวังกันหน่อยนะ เพราะบางเรื่องอย่าง “Star Wars Holiday Special” ก็เกือบจะดูไม่ได้เลย ฉะนั้นแนะนำว่าเลือกดูให้ดี ๆ เพราะคริสต์มาสมีแค่ปีละครั้งเท่านั้น!
และสุดท้ายภาพยนตร์เกี่ยวกับคริสต์มาส มีภาพยนตร์ดี ๆ อยู่หลายเรื่องมาก ๆ ที่ออกฉายในวันคริสต์มาสอีฟและวันคริสต์มาส แม้แต่เรื่อง “A Christmas Story” ซึ่งออกฉายครั้งแรกตั้งแต่ปี 1983 และตอนนี้ก็ยังเป็นที่นิยมอยู่เลย ช่อง TBS ฉายเรื่องนี้ซ้ำไปซ้ำมาตลอด 24 ชั่วโมงเลยล่ะ! พวกเขาเรียกมันว่า “ประวัติวันคริสต์มาสแบบมาราธอน” และหลาย ๆ บ้านก็ชอบเปิดเรื่องนี้คลอไปด้วยตอนที่พวกเขาฉลองคริสต์มาสกัน
ก็อย่างที่คุณเห็นนั่นแหละ ประเพณีวันคริสต์มาสมีมากมายหลายรูปแบบจนนับกันแทบไม่ไหวจริง ๆ
ถ้าคุณอยู่ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ในช่วงเทศกาลนี้ล่ะก็ ลองแวะไปร่วมฉลองคริสต์มาสกับเพื่อน ๆ ของคุณดู คุณจะได้สัมผัสกับประสบการณ์เจ๋ง ๆ ของประเพณีเหล่านี้ จนบางทีคุณอาจจะอยากเริ่มประเพณีนี้ในแบบของคุณเองก็ได้ !
-->